วันที่ 16 / เม.ย. / 2567

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 เน้นรักษาแก่นแท้ของประเพณี

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 เน้นรักษาแก่นแท้ของประเพณี
6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ แห่องค์พระล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก ไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานเพื่อ รักษาแก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น งดการจัดกิจกรรมที่รวมคนเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 เน้นรักษาแก่นแท้ของประเพณี

โดยพิธีเริ่มจากนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานบนเรือ จากวัดไตรภูมิมายังแม่น้ำป่าสัก และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องไปตามสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมกันอุ้มพระดำน้ำจำนวน 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองทำพิธีอุ้มในทิศใต้ ครั้งที่สามครั้งที่สี่ทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มในทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 เน้นรักษาแก่นแท้ของประเพณี

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย จึงได้ร่วมกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดไตรภูมิ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมร่วมกันถวายนามว่า "พระพุทธมหาธรรมราชา" หลังจากนั้นต่อมาในวันสารทไทย หรือวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 เจ้าเมืองเพชรบูรณ์จะทำพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา ลงประกอบพิธีดำน้ำเป็นประจำทุกๆปี โดยเชื่อว่าจะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ไพร่ฟ้าประชาชนมีความสุข บ้านเมืองปราศจากจากโรคระบาดคุกคาม จนกลายมาเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำอันยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 เน้นรักษาแก่นแท้ของประเพณี

สวัส ภสิริหิรัญ ปชส.ทม.พช./ถ่ายภาพ
ธวัชชัย อินทรศร ปชส.ทม.พช./ถ่ายภาพ รวมรูปทั้งหมด