วันที่ 20 / เม.ย. / 2567

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ จัดพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ สมโภชหลักเมืองเพชรบูรณ์ 999 ปี

     เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 มีนาคม 2562 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ สมโภชหลักเมืองเพชรบูรณ์ 999 ปี ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี โดยมี ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์   ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวพิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ เขต 1 นายประทิน นาคสำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียง ดร.ภัทรดร พุทธนุรัตนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งน้ำเต้า สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ และประชาชนร่วมพิธี สำหรับงามสมโภชหลักเมืองเพชรบูรณ์ 999 ปี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-10 มีนาคม 2562 ณ บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ 

     เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ มีความเป็นพิเศษยิ่งกว่าเสาหลักเมืองในที่อื่น ๆ นั่นคือ  เป็นเสาหลักเมืองแห่งเดียวที่ทำด้วยหิน และยังเป็นศิลาจารึกที่มีการจารึกเกี่ยวกับ 2 ศาสนา และได้จารึกครั้งแรกไว้นานแล้ว สันนิษฐานจากบันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุของกรมศิลปากรเสาหลักเมืองที่เป็นศิลานี้ น่าจะนำมาจากวัดมหาธาตุ (ซึ่งอาจจะถูกนำมาจากเมืองศรีเทพอีกทีหนึ่ง) และนำมาปักเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกรเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2443  โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมือง เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้ศาลากลางจังหวัด

     เมื่อ พ.ศ. 2548 เมื่อมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลเจ้าพ่อหลักเมืองครั้งใหญ่ ก็ได้มีการค้นพบว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึก ที่จารึกเป็นอักษรขอม ภาษาสันสกฤต ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินทรายสีเทาใน 2 ยุคด้วยกันคือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เมื่อ พ.ศ.1564 ข้อความเป็นการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้านที่เหลือ 3 ด้าน โดยจารึกเมื่อ พ.ศ.2059 และเป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา มีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5000 ปี กระดาษลอกลายและสำเนาคำอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ดังกล่าว สามารถชมได้ที่หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้างกับศาลเจ้าพ่อหลังเมืองเพชรบูรณ์นั่นเอง











สวัสดิ์ มาพาก ปชส.ทม.พช./รายงาน
สมเกียรติ งามนิล ปชส.ทม.พช. / ถ่ายภาพ
กุลธร เจริญพุฒ ปชส.ทม.พช. / ถ่ายภาพ
ธวัชชัย อินทรศร ปชส.ทม.พช. / ถ่ายภาพ รวมรูปภาพทั้งหมด