วันที่ 26 / เม.ย. / 2567

นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมหามพระดำน้ำประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี

   เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ณ อ่างเก็บน้ำป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ ร่วมหามพระดำน้ำ ในงานประเพณีหามพระดำน้ำ ต.ป่าเล่า มี ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์  ผู้นำชุมชนและพี่น้องประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก
    ชาวบ้านป่าแดง ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ พร้อมใจกันอัญเชิญ “หลวงพ่อพระทอง” พระพุทธรูปที่ชาวบ้านนับถือแห่จากวัดโพธิ์กลาง ต.ป่าเลา ไป ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำป่าแดง หรือหมู่บ้านขึ้นไปประมาณ 2 กิโลเมตรเพื่อประกอบพิธีดำน้ำซึ่งเป็นประเพณีที่เก่าแก่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานหลายร้อยปี ด้วยเชื่อกันว่า เมื่อได้นำพระพุทธรูป “หลวงพ่อพระทอง” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อห้ามญาติ” ไปดำน้ำแล้ว จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล และเชื่อว่าจะปกปักรักษาให้ชาวบ้านอยู่ เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
    สำหรับ “หลวงพ่อพระทอง” หรือ “หลวงพ่อห้ามญาติ” เป็นพระพุทธรูป มีลักษณะปางห้ามญาติ ลักษณะยืน สูงประมาณ 3 ฟุต พระพักตร์อิ่มเอิบ พระกรรณยาว เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ แต่ชาวบ้านได้นำปูนมาโบกไว้และทาสีทอง เนื่องจากว่าจะถูกมารศาสนาขโมยไป กลายเป็นชื่อที่เรียกพระพุทธรูปองค์นี้อีกชื่อหนึ่งว่า “หลวงพ่อพระทอง” ผู้สูงอายุในหมู่บ้านเล่าว่า ประเพณีหามพระดำน้ำนี้ชาวบ้านตำบลป่าเลา ได้ปฏิบัติสืบต่อกันประมาณหลายร้อยปีและมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าได้มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งกำลังดำผุดดำว่ายอยู่ในแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดไตรภูมิ ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ ต่อมาพบว่าได้มีน้ำไหลออกมาจากพระเนตรของพระพุทธรูป จึงได้มีการเข้าทรงจึงทราบว่าพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวต้องการที่จะมาอยู่เหนือน้ำ จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดโพธิ์กลาง บ้านป่าแดง ต.ป่าเลา
    สำหรับความศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ท่านมีความศักดิ์สิทธิ์และปกปักรักษาชาวบ้านตำบลป่าเลา หากมีบุคคลจากต่างถิ่นมามีเรื่องและทำร้ายชาวตำบลป่าเลา ถ้าหากไม่มาขอขมาต่อ “หลวงพ่อห้ามญาติ” บุคคลนั้นก็จะมีอันเป็นไป และทุกวันแรม 14 ค่ำ เดือน 5 ชาวบ้านจะพร้อมใจกันแห่ “หลวงพ่อห้ามญาติ” จากวัดโพธิ์กลางไปรอบหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระและเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน จากนั้น จะนำไปดำน้ำที่บริเวณ “วังศาลพ่อปู่” บริเวณนั้นจะเป็นต้นน้ำที่จะไหลลงไปตามลำคลองไปสู่หมู่บ้าน แต่หลังจากที่ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำป่าแดงแล้ว เปลี่ยนไปประกอบพิธีภายในบริเวณอ่างเก็บน้ำแทน จนกระทั่งปัจจุบัน
    ประเพณีหามพระดำน้ำนี้ได้กระทำติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยปู่ยาตายาย เมื่อถึงวันดังกล่าวชาวบ้านจะพากันหยุดงาน ส่วนผู้ที่ไปทำงานอยู่ต่างถิ่นก็จะกลับมาเพื่อเข้าร่วมพิธี นอกจากนี้ เมื่อในขณะที่มีการสรงน้ำ “หลวงพ่อห้ามญาติ” ชาวบ้านก็จะนำภาชนะไปรองรับน้ำที่ใช้สรงน้ำพระ จากนั้นก็จะนำไปใส่โอ่งน้ำดื่ม และนำไปสาดใส่หลังคาบ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และช่วยคุ้มครองให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง











สวัสดิ์ มาพราก ปชส.ทม.พช / รายงาน
สมเกัยรติ งามนิล ปชส.ทม.พช./ ถ่ายภาพ รวมรูปภาพทั้งหมด
ธวัชชัย อินทรศร ปชส.ทม.พช./ ถ่ายภาพ รวมรูปภาพทั้งหมด